ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน คืออะไร

          ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน คือ การส่งเสริมพัฒนา การป้องกัน และการแก้ไขปัญหาให้แก่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่เข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทักษะการดำรงชีวิต และรอดพ้นจากวิกฤตทั้งปวง คุณค่าของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ประกอบไปด้วย
          1. นักเรียนได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและตรงตามสภาพปัญหา
          2. สัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดีและอบอุ่น
          3. นักเรียนรู้จักตนเอง ควบคุมตนเองได้ มีการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาความเก่ง (IQ) คุณธรรมจริยธรรม (MQ) และ ความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรค (AQ)
          4. นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุขและได้รับการส่งเสริมพัฒนาเต็มตามศักยภาพโดยรอบด้าน
          5. ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพนักเรียนอย่างเข้มแข็ง จริงจังด้วยความเอื้ออาทร

          ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นกระบวนการดำเนินงานดูแลและช่วยเหลือนักเรียนอย่างมีขั้นตอน พร้อมด้วยวิธีการและเครื่องมือการทำงานที่ชัดเจนโดยมีผู้บริหารสถานศึกษาและครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินการ มีการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับครูที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลภายนอก รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมจากสถานศึกษา กระบวนการบริหารจัดการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นระบบ มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานดังนี้
          1. กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ มีการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง ศึกษานโยบายมาตรฐานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาศักยภาพของโรงเรียนและกำหนดเป็นแผนกลยุทธ์ของโรงเรียนเพื่อให้การพัฒนาตรงต่อความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างแท้จริง
          2. กำหนดมาตรฐานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการร้อยรัดผูกมัดการดำเนินงานในสถานศึกษาให้เป็นหนึ่งเดียวกับกระบวนการทำงานต่างๆ ไม่ให้บุคลากรครูรู้สึกว่ามีภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น จนแบกรับภาระไม่ไหว ให้การทำงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปด้วยความสุข ทั้งผู้ปฏิบัติและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยอาจเชื่อมโยงในการดำเนินงานระบบการแนะแนว ระบบป้องกันสารเสพติด ระบบกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ระบบความปลอดภัยของสภาพสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน
          3. พิจารณามาตรฐานและตัวชี้วัดโดยผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการยอมรับการวางมาตรการ และแนวปฏิบัติให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งระบบ เช่น มีการทบทวนให้ความรู้แก่บุคลากรครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ตรงกันในการปฏิบัติงาน มีการคัดกรองและช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา วางแนวทางการคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน มีมาตรการช่วยเหลือนักเรียน เป็นต้น
          4. วางแผนการดำเนินงาน โดยการกำหนดเป้าหมายและลำดับความสำคัญ กำหนด มาตรฐานการปฏิบัติงาน กำหนดกิจกรรม/โครงการ และมอบหมายหน้าที่การดำเนินงานตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้
          5. ดำเนินงานตามแผน โดยเริ่มตั้งแต่ การรู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรอง การส่งเสริมพัฒนา การป้องกัน แก้ไข ช่วยเหลือ และการส่งต่อนักเรียนในรายที่มีปัญหาร้ายแรง
          6. นิเทศ กำกับ ติดตาม งานที่มอบหมาย กำหนดให้มีการประสานสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้อง เสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้เรียนและผู้ปฏิบัติงาน มีการพัฒนาบุคลากรให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง
          7. ประเมินผลและสรุปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมิน วางแผนการประเมิน ประเมินตามมาตรฐานและแผนการประเมิน จัดทำรายงานและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกิดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน